หุ้นกู้ยั่งยืน หุ้นกู้ส่งเสริมความยั่งยืน คืออะไร ดูแลสิ่งแวดล้อมอย่างไร ?

เรื่องที่น่าสนใจ เศรษฐกิจ (ในประเทศ - ต่างประเทศ)

หุ้นกู้ส่งเสริมความยั่งยืน (Sustainability-linked Bond: SLB) ตราสารหนี้รูปแบบใหม่ในกลุ่มตราสารหนี้สีเขียว กับโอกาสลงทุนพร้อมดูแลสิ่งแวดล้อมน่าสนใจอย่างไร

วันที่ 7 พฤศจิกายน 2565 หลายคนอาจจะยังไม่คุ้นหูกับชื่อ “หุ้นกู้ส่งเสริมความยั่งยืน หรือ Sustainability-Linked Bond (SLB)” มากเท่าไหร่นัก ซึ่งต้องบอกว่าเป็นหุ้นกู้ส่งเสริมความยั่งยืน หรือ หุ้นกู้ยั่งยืน เป็นตราสารหนี้รูปแบบใหม่ในกลุ่มตราสารหนี้สีเขียว แต่เชื่อว่าหลายคนอาจจะยังสงสัยว่าเจ้าหุ้นกู้ส่งเสริมความยั่งยืน มันน่าสนใจอย่างไรและมีกลไกอย่างไร “ประชาชาติธุรกิจ” สรุปมาให้ ดังนี้

หุ้นกู้ส่งเสริมความยั่งยืน คืออะไร
หุ้นกู้ส่งเสริมความยั่งยืน (Sustainability-linked Bond : SLB) เป็นตราสารหนี้ที่ผลตอบแทนขึ้นอยู่กับเป้าหมายโดยรวมของบริษัทผู้ออกในอนาคต ที่จะก่อให้เกิดผลกระทบด้านดีต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม โดยผู้ออกสามารถนำเงินทุนที่ระดมได้ไปใช้กับโครงการเพื่อสิ่งแวดล้อมและสังคมโครงการหนึ่งหรือหลายโครงการก็ได้ แต่หากบริษัททำไม่สำเร็จตามเป้าหมายภายในระยะเวลาที่กำหนด จะต้องเพิ่มอัตราดอกเบี้ยหน้าตั๋ว (คูปอง : Coupon) ให้แก่นักลงทุน

โดยแนวคิด SLB มาจาก Enel Group บริษัทพลังงานในอิตาลีที่ต้องการสร้างแรงจูงใจในการดำเนินกิจการให้แก่ตัวเองบรรลุเป้าหมายการเติบโตอย่างยั่งยืน (Sustainable Development) ขององค์การสหประชาชาติ จึงนำหลักเกณฑ์การกู้เงินส่งเสริมความยั่งยืน (Sustainability Linked Loan Principles : SLLP) ที่อัตราดอกเบี้ยเงินกู้สามารถปรับเปลี่ยนขึ้นหรือลงตามดัชนีชี้วัดความสำเร็จ (Key Performance Indicators) ของผู้ขอกู้ มาใช้อ้างอิงในการออกตราสารหนี้

หุ้นกู้ส่งเสริมความยั่งยืนรุ่นแรกเกิดขึ้นปี 2562
SLB รุ่นแรกของโลกเกิดขึ้นในเดือนกันยายน 2562 โดยบริษัท Enel Group ที่ผูกโยงอัตราดอกเบี้ยหน้าตั๋วของตราสารหนี้มูลค่า 1.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เข้ากับตัวชี้วัดความยั่งยืนของบริษัท

โดยกำหนดเป้าหมายในการประเมินผลรอบแรกในเดือนธันวาคมปี 2564 ว่า บริษัทต้องสามารถผลิตพลังงานทดแทนได้อย่างน้อย 55% ของกำลังการผลิตทั้งหมด หากไม่บรรลุตามเป้าหมาย บริษัทจะต้องเพิ่มคูปองจากเดิมอีก 25 basis points หรือ 0.25% ให้แก่นักลงทุน ซึ่งตลาดตอบรับค่อนข้างดี บริษัทจึงได้ออก SLB อีก 3 รุ่นมูลค่ารวมกว่า 2.5 พันล้านยูโรในเดือนถัดมา

องค์ประกอบของหุ้นกู้ส่งเสริมความยั่งยืน
จากการที่ SLB ได้รับความสนใจจากนักลงทุนเป็นอย่างมาก สมาคมตลาดทุนระหว่างประเทศ หรือ ICMA (International Capital market Association) จึงได้ออกมาตรฐานการออก SLB เรียกว่า Sustainability-linked Bond Principle (SLBP) ในเดือนมิถุนายน 2563 เพื่อเป็นแนวปฏิบัติให้แก่ผู้ออก ซึ่งประกอบด้วย 5 ขั้นตอนดังนี้

1) Selection of KPIs : ผู้ออกต้องกำหนดตัวชี้วัด มีหลายตัวชี้วัดได้แต่ต้องสามารถประเมินผลในเชิงปริมาณและตรวจสอบได้โดย external reviewer

2) Calibration of Sustainability Performance Targets (SPTs) : ต้องระบุเป้าหมายของตัวชี้วัดหรือค่าอ้างอิง ซึ่งควรกำหนดไว้สูงกว่าค่ามาตรฐานของการทำงานปกติ รวมถึงระยะเวลาที่จะบรรลุเป้าหมาย

3) Bond Characteristics : ผู้ออกต้องกำหนดลักษณะการเปลี่ยนแปลงของตราสารและเงื่อนไขที่ต้องดำเนินการภายหลังการเปลี่ยนแปลงนั้น ๆ เช่น หากไม่สามารถบรรลุตัวชี้วัด ผู้ออกต้องจ่ายอัตราดอกเบี้ยหน้าตั๋วเพิ่มขึ้นเท่าไหร่ เป็นเวลานานแค่ไหน

4) Reporting : จัดทำรายงานและเปิดเผยข้อมูลต่อนักลงทุนเป็นประจำเพื่อแจ้งผลการดำเนินงานตามตัวชี้วัด เช่น รายปี หรือเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ

5) Verification : จัดให้มีการรับรองหรือการให้ความเห็นโดย external reviewer

จุดเด่น = หุ้นกู้รักษ์โลก
ต้องบอกว่าความน่าสนใจของหุ้นกู้ส่งเสริมความยั่งยืน นอกจากจะเพิ่มช่องทางการระดมทุนให้แก่ภาคธุรกิจแล้ว นักลงทุนก็จะมีโอกาสเป็นส่วนหนึ่งในการดูแลโลกและดูแลสังคมไปพร้อม ๆ กัน จุดนี้เรียกได้ว่าเป็นจุดเด่นของหุ้นกู้ประเภทนี้เลยก็ว่าได้ อย่างที่กล่าวไปข้างต้นหุ้นกู้ส่งเสริมความยั่งยืน เป็นตราสารหนี้รูปแบบใหม่ในกลุ่มตราสารหนี้สีเขียว ที่อัตราดอกเบี้ยสามารถเพิ่มขึ้นหรือลดลงได้ตามผลสำเร็จของตัวชี้วัดหรือเป้าหมายของบริษัทผู้ออกที่มีความเชื่อมโยงกับสิ่งแวดล้อมและสังคม

นอกจากนี้จุดเด่นของหุ้นกู้ส่งเสริมความยั่งยืน คือ การที่อัตราดอกเบี้ยสามารถเพิ่มขึ้นหรือลดลงได้ตามผลสำเร็จของตัวชี้วัดที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม