“ซีพีเอฟ” พร้อมเสนอขายหุ้นกู้ด้อยสิทธิฯให้ผู้ลงทุนทั่วไป ระหว่าง 21-25, 28 ก.พ. และ 1 มี.ค.นี้ เรตติ้ง A- ชูดอกเบี้ย 5 ปีแรก 4.50% ต่อปี จองซื้อขั้นต่ำ 1 แสนบาท
วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2565 บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ “ซีพีเอฟ” (CPF) ผู้ดำเนินธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมและอาหารแบบครบวงจร เปิดเผยว่า บริษัทพร้อมเสนอขายหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุน ให้กับผู้ลงทุนทั่วไประหว่างวันที่ 21-25, 28 ก.พ. และ 1 มี.ค. ผ่านสถาบันการเงินชั้นนำ 7 แห่ง ด้วยอันดับความน่าเชื่อถือขององค์กรที่ A+ แนวโน้ม “คงที่” และอันดับความน่าเชื่อถือของหุ้นกู้ด้อยสิทธิฯ ที่ A- จากทริสเรทติ้ง
ขณะที่อัตราดอกเบี้ยใน 5 ปีแรก อยู่ที่ 4.50% ต่อปี หลังจากประสบความสำเร็จจากการเปิดให้ผู้ถือหุ้นกู้ชุดเดิมใช้สิทธิจองซื้อไปเมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา มั่นใจเป็นทางเลือกลงทุนที่ตอบโจทย์นักลงทุนที่ต้องการความมั่นคงของผู้ออกหุ้นกู้และแสวงหาโอกาสการลงทุนจากกิจการที่เติบโตอย่างยั่งยืน
โดยสถาบันการเงินผู้จัดจำหน่ายหุ้นกู้ให้ความเห็นว่า มั่นใจว่าหุ้นกู้ด้อยสิทธิฯของ “ซีพีเอฟ” จะได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากผู้ลงทุนทั่วไป หลังจากประสบความสำเร็จในการเสนอขายให้แก่ผู้ถือหุ้นกู้ชุดเดิม ซึ่งเสียงตอบรับที่น่าพอใจมาจากความเชื่อมั่นในการดำเนินธุรกิจของบริษัทที่มีความมั่นคงและแข็งแกร่ง
รวมทั้งอัตราดอกเบี้ยที่จูงใจนักลงทุน อีกทั้งหุ้นกู้ด้อยสิทธิฯชุดดังกล่าว ได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือที่ A- และอันดับความน่าเชื่อถือขององค์กรที่ A+ จากบริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2564 สะท้อนถึงความเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมอาหารระดับสากล
ทั้งนี้ ที่ผ่านมา “ซีพีเอฟ” ได้รับคัดเลือกเป็นสมาชิกดัชนีความยั่งยืน หรือ Dow Jonses Sustainability Indices (DJSI) ต่อเนื่องเป็นปีที่ 7 เป็นการตอกย้ำการดำเนินงานของบริษัทด้วยความรับผิดชอบจากการบริหารจัดการกระบวนการผลิตอาหารปลอดภัยตลอดห่วงโซ่การผลิตและใส่ใจสิ่งแวดล้อม เพื่อร่วมสร้างความมั่นคงทางอาหาร และเป็นเครื่องยืนยันว่ามาตรฐานการพัฒนาด้านความยั่งยืนของบริษัทเทียบเท่ามาตรฐานระดับโลกและเป็นที่ยอมรับในระดับสากล”
สำหรับผู้ลงทุนทั่วไปที่สนใจจองซื้อหุ้นกู้ด้อยสิทธิฯชุดใหม่ของซีพีเอฟในครั้งนี้ สามารถจองซื้อขั้นต่ำ 100,000 บาท และทวีคูณ 100,000 บาท โดยสามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้จากร่างหนังสือชี้ชวน หรือติดต่อสถาบันการเงินทั้ง 7 แห่ง ประกอบด้วย ธนาคารกรุงเทพ, ธนาคารกรุงไทย, ธนาคารกสิกรไทย, ธนาคารไทยพาณิชย์, ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย, ธนาคารกรุงศรีอยุธยา, บริษัทหลักทรัพย์เกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) (รวมถึงธนาคารเกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) ด้วย)
อ้างอิง
https://www.prachachat.net/finance